วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

หลงรัก...กับการเรียนรู้เรื่องคนพิเศษ

คุณเคยหลงรักไหม
รู้สึกอย่างไร
สุขปนทุกข์ มั้ย เมื่อได้ยินการกล่าวถึงสิ่งที่คุณหลงรักอยู่
เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
...
ผู้คนที่หลากหลาย
การอยู่ร่วมกัน
การพูดคุย
การให้คุณค่า
เป็นปัจจัยที่เราเลือกหลงรัก..หรือเปล่า
...
ฉันหลงรัก...ผู้คนกลุ่มหนึ่ง
มันเหมือนแรงดึงดูดที่จะเข้าหา

และเบื่อหน่าย...ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง
เป็นแรงผลักไส..ให้อยู่ห่างๆ

แต่ชีวิตฉันที่ผ่านมา
ฉันเลือกไม่ได้ที่จะอยู่เฉพาะสิ่งที่ฉันหลงรัก

ฉันใคร่ครวญชีวิตที่ผ่านมา
การเลือกไม่ได้ หรือพยายามที่จะเลือก
ทำให้ เกิดอะไรขึ้นในชีวิตฉัน

ฉันผลักไส..คนพิเศษ
ฉันจึงเลือกชีวิตแบบ..คนธรรมดา

ในสังคมบางครั้ง
หากฉันเจอคนพิเศษที่ประกาศความพิเศษ..แล้วมากระทบโลกของฉัน
ฉันก็ลุกขึ้นมาเป็นคนพิเศษ..เพื่อพิเศษกว่าเขา
และบางทีฉันก็ลุกขึ้นมาเป็นคนพิเศษ..ให้
ให้...คนที่ฉันรัก
ให้กับสังคมที่มักนิยมคนพิเศษ

แล้วฉันก็ขัดแย้ง...ว่าไม่ใช่
ฉันไม่ใช่คนพิเศษ
ฉันไม่ต้องการพิเศษ
พิเศษ...อย่างนั้น..นั่นไม่ใช่ของจริง
ฉันไม่อยากอยู่ภายใต้ของไม่จริง

ชื่อเสียง
เกรียติยศ
ทรัพย์สิน เงินทอง

ฉันคุยกับครูใหญ่ ครูว่า ทำไมจึงมีท่าทีแบบนั้น
ฉันเป็นคนธรรมดาหรือ
หรือฉันเป็นคนพิเศษ ที่ไม่ประกาศตัว

ครูถามแล้วทำไม..จึงไม่ผลักไสครูในเมื่อครูเป็นคนพิเศษ

...

คนพิเศษ..ฉันมักต้องพิเศษกว่า
ฉันรู้สึกเหนื่อย

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การเรียนรู้ในวงสนทนา

การเรียนรู้ ในวง..จันทร์ 7/12/51

มีการพูดคุยในวง คืนวันจันทร์ เราพูดคุยกันเรื่อง สุนทรียสนทนา ฉันเล่าเรื่องการเรียนรู้และรู้สึกได้ถึงประโยชน์จากการฟัง คือเมื่อเราฟังคนอื่นอย่างลึกซึ้ง เราจะได้เห็นเขา หรือสิ่งที่เขาพูดอย่างลึกซึ้ง คือทั้งอารมณ์ ความรู้สึก และเจตนาถึงการพูด พี่สาวของกลุ่มเราบอกว่า งง ไม่เข้าใจว่า แล้วอย่างไง ก็เขาก็เป็นอย่างงั้นเองนั่นแหละ ไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์จาก dialogue อย่างไง ฉันคงไม่ตัดสินหรืออาจมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรกับพี่สาว ทำไมพี่สาวจึงเกิดความสงสัย หรือทำไมจึงพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ฉันพูด ว่ามีประโยชน์อย่างไร หรือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร

แต่อยู่ๆ กลับได้เรียนรู้กับเหตุการณ์นี้ในฐานะการฝึกตนในการนำวง หรือ Fa ว่า การพูดคุยค่ำคืนนี้ขาดจังหวะ และการโยนตัวกวนดีๆ สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากสิ่งที่พี่สาวพูดคือ การพูดของฉัน ฉันรู้สึกฉันก็พูดว่าฉันมีเรื่องเล่าที่ประทับใจกับการฟังอย่างลึกซึ้ง นั่นคือคำตอบบางอย่างหรือปัญญาบางอย่างที่ผุดขึ้นมาว่าจะพูดเรื่องนี้ ณ ขณะนั้นแล้วฉันก็พูด แต่ฉันไม่ได้โยนคำถามที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ให้เป็นการตั้งคำถามปลายเปิดของวง เช่น คุณมีประสบการณ์หรือรู้สึกอย่างไรกับการฟังอย่างลึกซึ้ง หรือการใช้ dialogue ในการพูดคุย ซึ่งเป็นการดูแลผู้คนในวงด้วย ดังนั้นเรื่องเล่าของฉัน พี่สาวกลับนั่งฟังเพื่อจะแสดงความเห็นว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรกับประสบการณ์ของฉัน แต่ในทางกลับกันหากฉันตั้งเป็นคำถาม หรือตัวกวน โยนลงกลางวงก่อน อาจทำให้พี่สาวของเรากลับมาฟังเสียงตัวเองก็ได้ว่าแล้วตัวเองมีประสบการณ์ หรือ ความคิดเห็นอย่างไรกับประสบการณ์ของตัวเองมากกว่า การตั้งคำถาม หรือตั้งข้อสงสัย กับประสบการณ์ของฉันหรือเปล่า และฉันตั้งเป็นข้อสังเกตุด้วย ว่า วงพูดคุย dialogue ที่ขาดการโยนตัวกวน หรือการตั้งคำถามดีๆ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตั้งวงคุยแบบ dialogue ไม่เกิดผล หรือปัญญาร่วมเท่าใดนัก หรือจนไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะยังกลับมาใช้การพูดคุยโดยใช้พื้นฐานเดิมคือใช้ฐานคติของตนเองเป็นที่ตั้งเพื่อแสดงความคิดเห็นของตนเองมากกว่า การกลับมาเรียนรู้ ใคร่ครวญ ประสบการณ์ของตัวเอง

อันนี้ยกประโยชน์การเรียนรู้จากการพูดคุยรวมถึงการพูดคุยออนไลน์ที่มี อจ.วิศิษฐ์ ร่วมด้วย นั่นคือการเรียนรู้จังหวะ และสังเกตุเห็นได้ว่าในการพูดคุย อจ.วิศิษฐ์ มีการโยนตัวกวน เป็นระยะๆ แม้แต่การพูดคุยออนไลน์ ที่ไม่ได้มีเสียงระฆัง ที่ทำให้เกิดการกลับมาช้าลง แต่สังเกตุได้ว่า การโยนตัวกวนหรือการตั้งคำถามเป็นการทำให้วง ที่มีความคิดกระเซ็นกระซายไปบ้างกลับเข้ามา เป็นวงและมีพลังขึ้นมาได้อีก และนี่คือความสำคัญสำหรับการตั้งวง dialogue แรกๆ ที่ต้องมี Fa (Facilitator) หรือ Host เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลจังหวะ และการเลื่อนไหลของการพูดคุย โดยมีการโยนตัวกวน หรือการตั้งคำถามดีๆ ในวง เพื่อให้ได้คำตอบดีๆ ของแต่ละคนทีเดียว อันเป็นบ่อเกิดปัญญาร่วมหรือมหาสมุทรแห่งปัญญา ที่ได้จากปัญญาของปัจเจกนั่นเอง

บังเอิญ อจ.วิศิษฐ์ ได้ตอบคำถามเรื่องนี้ในเว็บวงน้ำชาและฉันเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ คือเรื่องทำไมต้องเรียนรู้เรื่องการโยนตัวกวน หรือการตั้งคำถาม ตัวกวน ที่เราโยนเพื่อการเรียนรู้ อาจจะไม่มีอะไรดี ๆ เท่ากับคำถามง่าย ๆ คำถามปลายเปิด หรือแทัจริง คือการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังทั้งตัวตนของเรา เพื่อปรารถนาจะรับฟังคนอีกคนหนึ่งอย่างแท้จริง หากปรารถนาจะโยนตัวกวน หรือโยนโจทย์ ให้คมคายเฉียบขาดกว่านี้ ก็ต้องหัดฟังอย่างลึกซึ้ง และเรียนรู้ที่จะมองโลกให้กว้างและลุ่มลึกกว่า ที่เราเป็นอยู่ ซึ่งหมายความว่า เราต้องทำงานกับโลกภายในของตัวเอง การเรียนรู้เงาของเรา แต่ละครั้งเราก็จะขยายโลกของเราให้กว้างใหญ่และลุ่มลึกขึ้นโดยลำดับ พูดอย่างนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ประเด็นนี้ได้เชื่อมโยงกับวอยซ์ไดอะล็อคแล้วนะครับ และทั้งหมดนี่คือการเรียนรู้ของค่ำคืนหนึ่ง ที่ อจ.วิศิษฐ์ ชอบถาม ..."คุณเห็นอะไร ในค่ำคืนนี้"