วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

หลงรัก...กับการเรียนรู้เรื่องคนพิเศษ

คุณเคยหลงรักไหม
รู้สึกอย่างไร
สุขปนทุกข์ มั้ย เมื่อได้ยินการกล่าวถึงสิ่งที่คุณหลงรักอยู่
เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
...
ผู้คนที่หลากหลาย
การอยู่ร่วมกัน
การพูดคุย
การให้คุณค่า
เป็นปัจจัยที่เราเลือกหลงรัก..หรือเปล่า
...
ฉันหลงรัก...ผู้คนกลุ่มหนึ่ง
มันเหมือนแรงดึงดูดที่จะเข้าหา

และเบื่อหน่าย...ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง
เป็นแรงผลักไส..ให้อยู่ห่างๆ

แต่ชีวิตฉันที่ผ่านมา
ฉันเลือกไม่ได้ที่จะอยู่เฉพาะสิ่งที่ฉันหลงรัก

ฉันใคร่ครวญชีวิตที่ผ่านมา
การเลือกไม่ได้ หรือพยายามที่จะเลือก
ทำให้ เกิดอะไรขึ้นในชีวิตฉัน

ฉันผลักไส..คนพิเศษ
ฉันจึงเลือกชีวิตแบบ..คนธรรมดา

ในสังคมบางครั้ง
หากฉันเจอคนพิเศษที่ประกาศความพิเศษ..แล้วมากระทบโลกของฉัน
ฉันก็ลุกขึ้นมาเป็นคนพิเศษ..เพื่อพิเศษกว่าเขา
และบางทีฉันก็ลุกขึ้นมาเป็นคนพิเศษ..ให้
ให้...คนที่ฉันรัก
ให้กับสังคมที่มักนิยมคนพิเศษ

แล้วฉันก็ขัดแย้ง...ว่าไม่ใช่
ฉันไม่ใช่คนพิเศษ
ฉันไม่ต้องการพิเศษ
พิเศษ...อย่างนั้น..นั่นไม่ใช่ของจริง
ฉันไม่อยากอยู่ภายใต้ของไม่จริง

ชื่อเสียง
เกรียติยศ
ทรัพย์สิน เงินทอง

ฉันคุยกับครูใหญ่ ครูว่า ทำไมจึงมีท่าทีแบบนั้น
ฉันเป็นคนธรรมดาหรือ
หรือฉันเป็นคนพิเศษ ที่ไม่ประกาศตัว

ครูถามแล้วทำไม..จึงไม่ผลักไสครูในเมื่อครูเป็นคนพิเศษ

...

คนพิเศษ..ฉันมักต้องพิเศษกว่า
ฉันรู้สึกเหนื่อย

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การเรียนรู้ในวงสนทนา

การเรียนรู้ ในวง..จันทร์ 7/12/51

มีการพูดคุยในวง คืนวันจันทร์ เราพูดคุยกันเรื่อง สุนทรียสนทนา ฉันเล่าเรื่องการเรียนรู้และรู้สึกได้ถึงประโยชน์จากการฟัง คือเมื่อเราฟังคนอื่นอย่างลึกซึ้ง เราจะได้เห็นเขา หรือสิ่งที่เขาพูดอย่างลึกซึ้ง คือทั้งอารมณ์ ความรู้สึก และเจตนาถึงการพูด พี่สาวของกลุ่มเราบอกว่า งง ไม่เข้าใจว่า แล้วอย่างไง ก็เขาก็เป็นอย่างงั้นเองนั่นแหละ ไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์จาก dialogue อย่างไง ฉันคงไม่ตัดสินหรืออาจมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรกับพี่สาว ทำไมพี่สาวจึงเกิดความสงสัย หรือทำไมจึงพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ฉันพูด ว่ามีประโยชน์อย่างไร หรือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร

แต่อยู่ๆ กลับได้เรียนรู้กับเหตุการณ์นี้ในฐานะการฝึกตนในการนำวง หรือ Fa ว่า การพูดคุยค่ำคืนนี้ขาดจังหวะ และการโยนตัวกวนดีๆ สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากสิ่งที่พี่สาวพูดคือ การพูดของฉัน ฉันรู้สึกฉันก็พูดว่าฉันมีเรื่องเล่าที่ประทับใจกับการฟังอย่างลึกซึ้ง นั่นคือคำตอบบางอย่างหรือปัญญาบางอย่างที่ผุดขึ้นมาว่าจะพูดเรื่องนี้ ณ ขณะนั้นแล้วฉันก็พูด แต่ฉันไม่ได้โยนคำถามที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ให้เป็นการตั้งคำถามปลายเปิดของวง เช่น คุณมีประสบการณ์หรือรู้สึกอย่างไรกับการฟังอย่างลึกซึ้ง หรือการใช้ dialogue ในการพูดคุย ซึ่งเป็นการดูแลผู้คนในวงด้วย ดังนั้นเรื่องเล่าของฉัน พี่สาวกลับนั่งฟังเพื่อจะแสดงความเห็นว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรกับประสบการณ์ของฉัน แต่ในทางกลับกันหากฉันตั้งเป็นคำถาม หรือตัวกวน โยนลงกลางวงก่อน อาจทำให้พี่สาวของเรากลับมาฟังเสียงตัวเองก็ได้ว่าแล้วตัวเองมีประสบการณ์ หรือ ความคิดเห็นอย่างไรกับประสบการณ์ของตัวเองมากกว่า การตั้งคำถาม หรือตั้งข้อสงสัย กับประสบการณ์ของฉันหรือเปล่า และฉันตั้งเป็นข้อสังเกตุด้วย ว่า วงพูดคุย dialogue ที่ขาดการโยนตัวกวน หรือการตั้งคำถามดีๆ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตั้งวงคุยแบบ dialogue ไม่เกิดผล หรือปัญญาร่วมเท่าใดนัก หรือจนไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะยังกลับมาใช้การพูดคุยโดยใช้พื้นฐานเดิมคือใช้ฐานคติของตนเองเป็นที่ตั้งเพื่อแสดงความคิดเห็นของตนเองมากกว่า การกลับมาเรียนรู้ ใคร่ครวญ ประสบการณ์ของตัวเอง

อันนี้ยกประโยชน์การเรียนรู้จากการพูดคุยรวมถึงการพูดคุยออนไลน์ที่มี อจ.วิศิษฐ์ ร่วมด้วย นั่นคือการเรียนรู้จังหวะ และสังเกตุเห็นได้ว่าในการพูดคุย อจ.วิศิษฐ์ มีการโยนตัวกวน เป็นระยะๆ แม้แต่การพูดคุยออนไลน์ ที่ไม่ได้มีเสียงระฆัง ที่ทำให้เกิดการกลับมาช้าลง แต่สังเกตุได้ว่า การโยนตัวกวนหรือการตั้งคำถามเป็นการทำให้วง ที่มีความคิดกระเซ็นกระซายไปบ้างกลับเข้ามา เป็นวงและมีพลังขึ้นมาได้อีก และนี่คือความสำคัญสำหรับการตั้งวง dialogue แรกๆ ที่ต้องมี Fa (Facilitator) หรือ Host เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลจังหวะ และการเลื่อนไหลของการพูดคุย โดยมีการโยนตัวกวน หรือการตั้งคำถามดีๆ ในวง เพื่อให้ได้คำตอบดีๆ ของแต่ละคนทีเดียว อันเป็นบ่อเกิดปัญญาร่วมหรือมหาสมุทรแห่งปัญญา ที่ได้จากปัญญาของปัจเจกนั่นเอง

บังเอิญ อจ.วิศิษฐ์ ได้ตอบคำถามเรื่องนี้ในเว็บวงน้ำชาและฉันเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ คือเรื่องทำไมต้องเรียนรู้เรื่องการโยนตัวกวน หรือการตั้งคำถาม ตัวกวน ที่เราโยนเพื่อการเรียนรู้ อาจจะไม่มีอะไรดี ๆ เท่ากับคำถามง่าย ๆ คำถามปลายเปิด หรือแทัจริง คือการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังทั้งตัวตนของเรา เพื่อปรารถนาจะรับฟังคนอีกคนหนึ่งอย่างแท้จริง หากปรารถนาจะโยนตัวกวน หรือโยนโจทย์ ให้คมคายเฉียบขาดกว่านี้ ก็ต้องหัดฟังอย่างลึกซึ้ง และเรียนรู้ที่จะมองโลกให้กว้างและลุ่มลึกกว่า ที่เราเป็นอยู่ ซึ่งหมายความว่า เราต้องทำงานกับโลกภายในของตัวเอง การเรียนรู้เงาของเรา แต่ละครั้งเราก็จะขยายโลกของเราให้กว้างใหญ่และลุ่มลึกขึ้นโดยลำดับ พูดอย่างนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ประเด็นนี้ได้เชื่อมโยงกับวอยซ์ไดอะล็อคแล้วนะครับ และทั้งหมดนี่คือการเรียนรู้ของค่ำคืนหนึ่ง ที่ อจ.วิศิษฐ์ ชอบถาม ..."คุณเห็นอะไร ในค่ำคืนนี้"

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

AAR YCL Dialogue 239 110508

เมื่อคืนเกิดอะไรขึ้นในวงสนทนา YCL....นั่นใช่ dialogue หรือไม่?

การพูดคุยเพื่อตัดสินใจในการจะทำอะไรร่วมกันสักอย่างหนึ่ง การพูดคุยเริ่มต้นกันอย่างระแวดระวัง พูดคุยอย่างเกรงใจ พูดถึงความคิดเห็นที่สื่อออกมาผ่านภาษาในลักษณะไม่ว่าใครไม่มีใครถูกใครผิดเป็นความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น การพูดคุยผ่านไปถึงจุดหนึ่ง การพูดคุยถูกผลักให้แสดงถึงความคิดเห็นหรือความรู้สึกที่ลึกลงไปมากกว่าภาษา เพื่อเปิดเจตนาของผู้คนในกลุ่ม และลดความเกรงอกเกรงใจกัน การเปิดพื้นที่ให้เกิดการปลอดภัยพอ ตรงนี้ใช้ความกล้าและจริงใจของผู้คนมากพอที่จะแสดงเจตนาตรงนี้ว่า วงมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มหนึ่งเชื่อมั่นว่า dialogue ดี และ อีกกลุ่มหนึ่งคือไม่เชื่อมั่นกับ dialogue ระดับการสนทนาเริ่มลงลึกเบื้องหลังภาษา ไปสู่อารมณ์หรือความรู้สึกที่แสดงออกมาผ่านเรื่องเล่า ประสบการณ์ที่ตนเองเจอ แสดงบางอย่างให้เห็นว่าความต่างแต่เบื้องต้นนั้น ไม่ใช่ไม่เชื่อมั่น dialogue แต่เป็นความรู้สึก ความกังวลผลของการทำกระบวนการว่าจะออกมาดีหรือไม่ หากผู้เข้าร่วมไม่ได้ตระเตรียมตัวมาเพื่อทำการ dialogue จะรับไม่ได้ ความกังวลของกระบวนการที่ต้องเป็นกระบวนกรเพื่อนำพาผู้คนเพื่อการเรียนรู้เพราะไม่เคยทำ จนถึงความกังวลต่อผลกระทบต่อผู้คนที่เกี่ยวข้อง...และอื่นๆ อีกมากมาย จนถึงการขมวดเกลียวได้ข้อสรุปอย่างพอดี และเห็นเหมือนกันทั้งที่มีการเริ่มต้นจากความคิดต่าง เป็นการเลื่อนไหล ไต่ระดับการพูดคุยอย่างลงลึกนี่คือ dialogue ...ใช่หรือไม่....

หากเราสืบค้นจากการพูดคุยข้างต้น เป็นการเริ่มต้นการทำบางอย่างที่เราไม่คุ้นชิน การเริ่มต้นที่เราจะทำอะไรที่ไม่เคยทำ เป็นการออกจาก comfort zone หรือออกจากไข่แดง มันมักมีอาการเสียวๆ หรือกังวลแบบนี้นี่แหละใช่แล้ว แล้วเบื้องหลังความกังวลเหล่านั้น คือเสื้อเกราะตัวไหนที่เหล่านักธุรกิจใส่อยู่,...(ป้อมพูดถึงการเป็น CEO)

การเริ่มต้นครั้งนี้สำหรับผู้จัด (YCL NW) นกนึกถึงการได้ยินเสียงตนเองก่อน รู้จักเสื้อเกราะที่ตัวเองสวมใส่ไว้ก่อน จากนั้นค่อยๆ ถอด แบบค่อยๆ เริ่มสัมผัสแบบแผนพลังภายในแบบที่ไม่มีเสื้อเกราะบางส่วน เริ่มฝืนเล็กๆ ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นบ่มเพาะ ความเป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน จนถึงเข้าไปสัมผัสสภาวะที่เหมาะกับการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของตนคือ Optimum Learning State นั่นเอง การเริ่มต้นที่จะวางใจตนเอง และวางใจผู้อื่น เป็นการหัดเต้นรำ หรือหายใจให้เป็นลมหายใจเดียวกันของเหล่ากระบวนกรนั่นเอง แล้วนักธุรกิจเหล่านี้ต้องเต้นรำกับผู้อื่นบ้างหรือไม่อย่างไร

อันนี้ใช่การเรียนรู้ด้วยใจใคร่ครวญสำหรับนักธุรกิจ หรือเปล่า

วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คำถามดีๆ ในชีวิต บทส่งท้าย

- ๔- ส่งท้ายกล้วยกล้วย- นครสวรรค์--คำตอบ
การบันทึกส่งท้ายการเรียนรู้ในห้วงคำนึงของงานนักศึกษารามา ที่กล้วยกล้วยรีสอร์ทวันที่ 15-17 ต.ค. ที่ผ่านมา คำตอบ ของคำถามที่ผุดขึ้นในการทำงานครั้งนี้และตัวกวนที่บรรจงโยนใส่ตัวเอง คงไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าบทสนทนาของฉันกับครูใหญ่(อจ.วิศิษฐ์) ที่ห่างหายไปนาน

ฉัน: งานของพี่นิด กับแอน มีความสุขมากเลย
ใหญ่: ครับ
ฉัน: งาน workshop ที่นกไปทำ กับศรชัย อาประสาท น้ำ
ใหญ่: เป็นอย่างไร? ฉัน: กำลังเขียนบันทึก คราวนี้มันออกเป็นฉากๆ เลย
ใหญ่: ดี อ่านบ้างแล้ว เขียนได้ดีมาก
ฉัน: เพิ่งได้บางคำตอบ การทำอะไรบางอย่าง เหมือนทำเพื่อทดแทนสิ่งที่ตัวเองหายไป รู้สึกชีวิตช่วงวัย นศ. หายไป
ใหญ่: เล่าอีกนิดซิ มันคืออะไร? อ้า โตเร็ว รับผิดชอบเร็ว
ฉัน: และการไปเป็น นศ.พยาบาล อาจเป็นจิตใต้สำนึกของ ตัวเอง ที่ความต้องการช่วงวัยนั้น ต้องการความสดใส อิสระ แต่ต้องไปอยู่ภายใต้กรอบ กฏเกณฑ์ ขอบเขต เป็นความทุกข์อยู่ลึกๆ ส่วนหนึ่ง
ใหญ่: อา นำมันกลับมา เป็นวัยรุ่นได้ตลอดกาล พ่อยังเป็นวัยรุ่นอยุ่เลย
ฉัน: การพยายามกลับไปทำกระบวนการ ให้ นศ.พยาบาล ก็อาจเป็นตรงนี้ ต้องการปลดปล่อยบางอย่าง
พอไปทำให้ นศ. ของอ.นิด อ.แอน วันสุดท้ายรู้สึกสนุก รู้สึกตัวเองกลับไปตื่นเต้น ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ กลับไปเป็นวัยรุ่น
ใหญ่: ดีจัง เอาความสดชื่นไปให้น้องๆ นะ อา ใช่เลย
ฉัน: การทำอะไรใหม่ๆ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มันต้องตื่นเต้น มีชีวิตชีวา
ใหญ่: ดีจัง
ฉัน: อาจเพราะไปทำ workshop ครั้งนี้ กลับไปถามตัวเองว่า ตอนนกอายุเท่าเขา นกต้องการอะไร
ใหญ่: ดีฉัน: อยากให้สิ่งที่เขาต้องการ มากกว่าพยายามจะให้ทุกอย่างที่เราคิดว่าดี เลยเจอ อ้าว ฉันนี่สาหัสสากรรจ์ ที่แท้ตัวฉันขาดนี่เอง
ใหญ่: อา
ฉัน: ก็เลยรู้สึกดีค่ะ เป็นการเติมเต็มตัวเอง แล้วคนอื่นได้ประโยชน์ด้วยค่ะ เป็นการเติมพลังชีวิต หรือเวลาเป็นเมจิก จริงๆนกที่เป็นวัยรุ่นก็ยังอยู่
ใหญ่: ใช่เลย

น่าจะเป็นคำตอบดีๆอีกหนึ่งคำตอบ ของคำถามดีๆ ในชีวิต "ทำไมถึงมาเป็นกระบวนกร"

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551

คำถามดีๆในชีวิต -3- นครนายก เบื้องหน้า เบื้องหลัง

-๓- นครนายก -- เบื้องหน้า เบื้องหลัง
ถ้ามีคนบอกว่า เราเป็นคนมีเบื้องหน้า เบื้องหลัง เราจะต้องโกรธถึงขั้นลงไม้ลงมือมั้ยเนี๊ยะ เพราะมันเป็นเรื่องจริง
ก็ฉันรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ใน เวิร์คช๊อฟนี้จริงๆ งานนี้ก็มีมืออาชีพ ทั้งนั้น ฉันไม่น่าต้องกังวลอะไร น่าจะชิวๆ กับกระบวนการ แต่งานนี้ถือเป็นครั้งแรกของทีมนี้

-เบื้องหลัง เปลือยกระบวนกร-

กระบวนการ 3 วันที่อยู่ร่วมกัน วันแรกๆ ฉันรู้สึกเหมือนกับว่า กำลังกินก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ผสมเนื้อสด รสเผ็ดๆ ที่ทำให้สมองมึนชาไปได้
อาประสาทเป็นประเภทเนื้อสด ไม่ต้องถามว่าจะทำอะไร ทำไปทำไม เพราะอะไร ไหลมาแบบสดๆ
ศรชัยที่ฉันเคยร่วมงานด้วยเหมือนหมูตุ๋น วัชระองค์ความรู้เฉียบขาด สร้างสรรกิจกรรม ต้องพูดคุยกันจนตกผลึก
งานนี้ฉันกับน้ำ อยู่ระหว่าง 2 รสชาด แล้วความสดของกระบวนกรหลัก อย่างอาประสาท และหมูตุ๋นอย่างศรชัย ที่น่าจะพูดคุยจนตกผลึก ทำให้ฉันต้องหาเอาเองว่าฉันจะเป็นอะไร เวิร์คชอปนี้ถึงกลมกล่อม
วันแรกของฉันเลยมีอาการเหมือนกินก๋วยเตี๋ยวที่เนื้อสดเกินไป หมูตุ๋นยังไม่ได้ที่ เผ็ดจนมึน ความเผ็ดนี่ไม่รู้มาจากอาจารย์นิด กับอาจารย์แอน หรือเปล่าที่มีพลังในการพูดคุย เพื่อสร้างสรรงานนี้ให้กับลูกศิษย์อย่างเต็มกำลัง งานนี้หลังกระบวนการวันแรก ฉันเลยสะท้อนว่ายกให้น้ำเป็นกระบวนกรหลักไปเลย น้ำน่าจะรู้ว่า ผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นวัยเดียวกันกับน้ำ ต้องการอะไร และความที่ต้องการปรุงแต่งรสชาด เพราะรู้สึกว่า จะทำอะไรดีวะเนี๊ยะ เลยโยนตัวกวนให้ตัวเองซะอย่างงั้น แล้วเราตอนเป็น นศ.ปี 3 ปี 4 นี่ชีวิตเป็นอย่างไร ต้องการอะไร เผื่อได้คำตอบเด็ดๆ คิดไว้อย่างนั้น

วันที่ 2 ฉันเลยได้ติดเรด้าร์ ฝีมือ อาจารย์หมอระบบประสาท รามา ฝังเข็มบนหัวเพื่อความผ่อนคลาย บางครั้งกระบวนกร ก็ต้องให้ผู้เข้าร่วมทำให้ผ่อนคลายเหมือนกัน
วันนี้ รสชาดก๋วยเตี๋ยว กลมกล่อมขึ้น มีบทพิสูจน์ทางดนตรีเกิดขึ้นว่าเพลงบรรเลงที่ไม่มีเนื้อร้องก็สามารถสื่อสารให้ผู้ฟัง รับรู้เรื่องราวได้
อาประสาทนั่งเล่นกีตาร์ ศรชัยเป่าขลุ่ย เล่นดนตรีนำพาปลุกเด็กน้อยของเหล่าวัยรุ่นที่มาเข้าค่ายครั้งนี้ บรรเลงจบอาประสาท ยิงคำถามสุดฮิตประจำเวิรค์ช๊อฟครั้งนี้ "ฟังแล้ว รู้สึกอย่างไร" มีน้องผู้หญิงบอกเล่าความรู้สึกว่า "ช่วงแรกรู้สึกว่า เหมือนคน 2 คนกำลังคุยกัน ช่วงกลางคน 2 คนก็ตัดพ้อต่อว่ากัน พอสักพักช่วงหลังก็เหมือนคน 2 คนเข้าใจกัน หนูไม่รู้ว่าหนูคิดมากไปหรือเปล่า " แต่ฉันเรียนรู้แล้วว่า ภาษาดนตรีสามารถสื่อสารได้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ต้องมีคำร้องประกอบทำนองประมาณนั้น เพราะฉันก็รู้สึกเหมือนน้องเช่นกัน การตัดพ้อก็เหมือนก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นที่ยังไม่ได้ที่ เนื้อสดก็สดเกินไป แต่วันนี้มันกำลังกลมกล่อมก็เหมือนการเข้ากันได้ดีนั่นเอง

แล้วฉันกับน้ำทำอะไร
น้ำ "พี่นก 2 คนนี้เขาเข้ากันได้ดีน่ะ"
นก "อืม"
น้ำ "เขาบรรเลงไปไกลแล้ว เราคงต้องหยุดคิด แล้วบรรเลงตามเขาไปดีกว่า"
นก "อืม"
จริงอย่างน้ำว่า สิ่งที่อยู่ในหัวของฉันยิ่งน้อยลง ฉันเพียงโยนตัวกวน ลงไปในหมู่กระบวนกรเหลืออยู่ประเด็นเดียวเท่านั้นคือ จงดูแลวาระของผู้เข้าร่วมให้มากที่สุด อย่าเพียงดูวาระของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้จัด หรือวาระของกระบวนกรที่พยายามหยิบยื่นสิ่งดีจนเขาไม่ได้สมัครใจจะเรียนรู้สิ่งใหม่ในชีวิต กระบวนกรเป็นเพียงผู้นำพาการเรียนรู้ เฝ้าดูสภาวะที่เกิดขึ้น และทิ้งช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญให้มากพอ ฉันอาจเป็นชามก๋วยเตี๋ยว ที่มีน้ำเป็นน้ำซุปที่กลมกล่อม งานนี้จึงลุล่วงเพราะเราเป็นส่วนประกอบที่ครบเครื่องให้เขาได้มีโอกาสกินก๋วยเตี๋ยวใส่ทุกอย่างปรุงรสอย่างที่เขาต้องการอย่างเอร็ดอร่อย แบบที่ไม่เคยกินที่ไหนมาก่อน (อันนี้โม้นิดหน่อย)

หากเบื้องหน้าของกระบวนกรเป็นการตระเตรียมพื้นที่ และนำพาให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดการเรียนรู้แล้วจะมีประโยชน์อันใดหากหมู่กระบวนกรไม่มีเบื้องหลังคือการเรียนรู้ จากกระบวนการที่เราทำร่วมกันเลย (๕๕๕๕ อันนี้หยอดไว้ออกตัว ขออนุญาตเปลือยเหล่ากระบวนกร)

วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551

คำถามดีๆ ในชีวิต -1- เมืองแพร่ จูนคลื่น

-๑- เมืองแพร่ --จูนคลื่น
ศรชัยบอกว่า เราคงต้องไปคุยงานกันในทีมกระบวนกรก่อนไปทำงาน คงไปอยู่ที่แพร่ น้ำจะเดินทางจากเชียงราย ฉันกับศรชัยเดินทางจากนครสวรรค์ อยู่ร่วมกันสัก 2 คืนที่แพร่ แล้วเดินทางจากแพร่ มาพักนครสวรรค์หนึ่งคืน ก่อนเดินทางไปนครนายกด้วยกัน ดูเป็นการทำงานที่ยาวนานมาก หากเราวัดการเตรียมงานจากระยะทางการเดินทางของพวกเรา ๕๕๕๕๕ จะบอกว่าเตรียมงานกันอย่างดี
วิถีชีวิตที่แพร่ไม่ใช่มีเพียงเรา 4 คนเท่านั้น เรายังมีพี่ตอนภรรยาอาประสาท ต๊กโตลูกชายวัย 9 ขวบของอาประสาท กาฟิวล์ลูกชายวัย 8 ขวบของแอนสถาบันขวัญเมืองเชียงราย ซีซ่าร์ เด็กชายวัย 10 ขวบ ชีวิตวันแรกไม่มีอะไรมาก ไม่มีอะไรมากจริงๆ สำหรับฉัน เช้าตื่นมากิน Breakfast สายหน่อยก็กินข้าว เที่ยงก็ออกไปกินก๋วยเตี๋ยว เย็นหน่อยอาประสาทก็ขี่ซาเล้ง มอเตอร์ไซต์มีรถพ่วงข้างๆ ตุเลงๆ พวกเรานก ศรชัย และน้ำเพื่อไปเดินตอนเย็น เดินไปตามถนนที่ราดยางมะตอยเหมือนในเมือง แต่ข้างๆเป็นท้องนา ต้นข้าว ล้อมรอบด้วยทิวเขาและแสงอาทิตย์อ่อนๆยามเย็น มีกองขี่วัวขี่ควายอยู่ริมทางเป็นระยะๆ เย็นวันแรกคงไม่มีอะไรมากไปกว่า การได้รับความรู้สึกผ่อนคลายจากบรรยากาศ และการไม่ได้ทำอะไรของชีวิตที่ห่างหายไปนานในช่วง 2-3 เดือน ที่ผ่านมา
วันที่ 2 เรามีสมาชิกเพิ่มมาอีก 1 คน แบงค์ เด็กชายวัย 5 ขวบ เย็นย่ำวันนั้นการเดินทางเพื่อไปเดิน อาประสาทก็ตุเลงๆ พวกเรา นก น้ำ ศรชัยไปกันด้วยซาเล้งเหมือนเคย แต่พวกเด็กๆ ขี่จักรยาน ไปพี่ตอนขี่จักรยานเป็นผู้นำเด็กๆ ฉันเลยพลอยตื่นเต้นกับ ซีซ่าร์ เด็กชายวัย 10 ขวบที่วันๆ เอาแต่ดูโทรทัศน์ และเล่นเกมส์ พูดเร็วยังกับจรวด พูดไปมีเสียง effect ตูมตามไปด้วยเหมือนเกมส์คอมพิวเตอร์ ซีซ่าร์ หวาดกลัวกับการขี่จักรยานบนถนนใหญ่ คอแข็งไปหมด ขี่ปัดไปปัดมา จะเฉี่ยวโน้นเฉี่ยวนี่ แต่ความกลัวของซีซ่าร์ ก็อาจใกล้เคียงกับความกลัวของฉัน เพราะนั่งลุ้นตามหลังเขาไปตลอดทาง ฉันมองเห็นเรื่องนี้เป็นความกล้าหาญของอาประสาท กับพี่ตอน ที่ให้เด็กๆ ขี่จักรยานบนถนนที่มีรถราวิ่งไปมา สุดท้ายเจ้าแบงค์เด็กน้อยที่จักรยานยังมีล้อพ่วงเล็กๆ ก็ต้องมาเป็นสมาชิกนั่งในรถซาเล้งกับพวกเรา แบงค์สนุกกับการตะโกนเชียร์ไล่หลังพี่ซีซ่าร์ที่ขี่จักรยานอยู่ข้างหน้า เย็นนั้นกองขี้วัว ขี้ควาย ริมถนนมีความหมายมากกว่าทุกวันเมื่อเจ้าแบงค์สร้างสรรว่ากองขี้วัวขี้ควายเป็นหลุมระเบิด สนุกกับการวิ่งเล่นลากจักรยานคันเล็กเพื่อฝ่าหลุมระเบิด กลับมาถึงบ้าน อาประสาทกับพี่ตอนนำพาเด็กๆ เล่นประทัดกัน และนำพาเด็กเข้ากลุ่มเหมือนได้เล่นเกมส์กัน ฉันตื่นเต้นกับเด็กๆ ที่สามารถเล่นเกมเป็นผู้นำพาอย่างเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ ก็ฉันไม่เคยต้องทำตามเด็ก 5 ขวบที่นำพาผู้ใหญ่ให้ทำท่าทางตามที่เขาบอก ตบท้ายค่ำคืนวันที่ 2 ที่วง dialogue เด็กๆ สะท้อนประสบการณ์อันมีค่าของตนเองอย่างที่เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่คาดไม่ถึง เพราะไม่มีคำตอบสำเร็จรูปกับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนอย่างแน่นอน ซีซ่าร์เด็กช่างพูด สะท้อนถึงความกล้าหาญของตัวเองในการขี่จักรยานได้ และการได้รับกำลังใจจากรถซาเล้งด้านหลัง แบงค์สะท้อนค่ำคืนที่มีความสุขของตัวเองกับการได้เล่นประทัด สำหรับฉันการเฝ้ารออย่างเนิ่นนานของวง dialogue เพื่อให้เด็ก 5 ขวบสะท้อนความรู้สึก รอยยิ้มของแม่แบงค์ ที่นั่งฟังลูกชายตัวเองสะท้อนความรู้สึก หากเราไม่เห็นเข็มนาฬิกาที่บอกเวลาว่าวิ่งไปเป็นปกติแล้ว ฉันรู้สึกเหมือนเวลาหยุดลง แม้เนิ่นนานแค่ไหนก็เป็นความสุขที่ดื่มด่ำได้ มีความสุขมาก...รู้สึกหลงรักเด็กเสียแล้ว
๕๕๕๕๕ อยู่กัน 2 วันดูเหมือนคุยงานไม่ถึง ชั่วโมง เลยมั้ง แต่การอยู่ร่วมกันเหมือนเราจูนคลื่นกัน ก่อนทำงานแน่นอน

วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2551

คำถามดีๆ ในชีวิต -0- นครสวรรค์ อยู่กับตัวเอง

- 0 - นครสวรรค์ --อยู่กับตัวเอง
ชีวิตคนเรา หากหมั่นถามตัวเอง แม้เป็นคำถามเดียวกัน คำตอบที่ได้อาจต่างกันไปตามกรรมตามวาระ

หากมองกระบวนกรเป็นอาชีพ อาชีพหนึ่งของชีวิต
คงมีคนถามว่า....ทำไมถึงมาเป็นกระบวนกร

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีหน้าที่รับผิดชอบเข้ามาในชีวิตมากมาย จนต้องบอกตัวเองว่า ค่อยๆ ทำไปทีละเรื่อง แล้วมันจะคลี่คลายไปเอง

รู้สึกวุ่นวาย จนต้องของดเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งพูดคุยกับเพื่อนๆ ในวง Dialogue ก็ต้องขอตัว รู้สึกเวลาที่เหลือจากความวุ่นวาย ขออยู่กับตัวเอง เป็นสิ่งที่ดีที่สุด การของด...ภาระกิจ แสดงว่าภาระกิจนั้นงดได้ เป็นการจัดการควบคุมได้
จนมาถึงงานหนึ่ง เป็นงานที่นัดกันล่วงหน้า ไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน งาน workshop ของนศ.วิทยาศาสตร์ รามา

ยิ่งใกล้ถึงเวลา ใจก็อยากของด...เหตุการณ์ที่ไม่สามารถจัดการและควบคุมได้เองเกิดขึ้นแล้ว และคำถามสำคัญก็ผุดขึ้นมา
ทำไมถึงมาเป็นกระบวนกร

เดิมทีฉันมักวางงานกระบวนกรไว้สูงมาก สูงส่งจนคิดว่า คนจะเป็นกระบวนกรได้ และเป็นได้ถึงระดับเซียนคือ คนที่ต้องมีสภาวะจิตใจที่มั่นคงพอ จึงจะเป็นผู้นำพาผู้คนในการเรียนรู้ตนเองเป็นกลุ่มได้
จิตใจที่อยากของด เป็นเพียงจิตที่ตัวเองต้องรู้เท่านั้น แต่การเอ่ยปากของดกับ ศรชัย เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ทำไม่ได้เด็ดขาด ไม่ว่าเหตุผลใดๆ ภาระกิจส่วนตัวที่ยังยุ่งวุ่นวาย และเหตุผลที่ร้ายที่สุดที่จะของด คือ จิตใจที่วุ่นวายจนไม่สามารถทำงานกระบวนกรได้...

แล้วชีวิตของเราจะพร้อมเสมอเลยหรือ เราสามารถควบคุมจัดการชีวิตได้เสมอหรือ
หรือความไม่พร้อมในสภาวะที่วุ่นวายคราวนี้ เป็นบทเรียน ที่จะฝึกการไปเป็นกระบวนกรในขั้นต่อไป การฝึกการไม่ควบคุม ไม่จัดการ เต้นระบำไปกับจักรวาล จักรวาลจัดสรรแล้ว จงอยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ปัจจุบันเท่านั้น ฉันบอกกับตัวเองแบบนั้น บทเรียนแรกก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว สำหรับงานนี้

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

วิถีชีวิต วิถีกระบวนกร_เด็กฝึกงาน

3 วันที่ผ่านมา กลับไปเป็นเด็กฝึกงาน กระบวนกร ของขวัญเมือง มันรู้สึกอย่างนั้น ก็กลับไปทำงานกับครู(วญ.) กับครูมนตรี เป็นความรู้สึกที่แตกต่างจากการออกไปทำงานเอง อันนั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็นเซียน ครูเข้าสิงไปแล้วตอนนั้น..เจ๋งแล้ว

ได้มีโอกาสคุยบนโต๊ะอาหารกับผู้เข้าร่วมบางท่าน ถามว่าฉันเวลาอยู่ในเวิร์คช็อพ ดูจริงจัง และเครียดจัง(ไม่ค่อยยิ้ม) ในชีวิตจริงๆ ใช้ชีวิตจริงจังและเครียดอย่างนี้หรือเปล่า อันนี้ต้องตอบว่า จริงจัง แต่ไม่เครียดค่ะ สบายกว่าทำงานเองโดยไม่มีครูเยอะเลย
จริงจัง ตามประสา นักเรียนแถวหน้าหรือเด็ก(หน้าห้อง) การจริงจังนี้เป็นการตื่นตัว และไม่เครียดอันนี้ถือเป็นจุดดี ครู(วญ.)ว่าอย่างนั้น
แต่คนสมัยนี้ บางคนก็ไม่จริงจัง หรือบางคนจริงจังแล้วยังสะสมความเครียดเข้าไปด้วย

เสน่ห์อันหนึ่งของวิถีกระบวนกรคือ เราได้ใช้เวลาในการใคร่ครวญชีวิตของเราไปด้วย คำถามของเรา ไปปรากฏอยู่ในคำถามของผู้เข้าร่วม

บางคำถาม ไม่มีคำตอบตอนนั้น การเล่าเรื่องราวของเรา เป็นการทบทวน ใคร่ครวญไปในตัว (เป็นเพียงเสี้ยวส่วนของชีวิตที่ผ่านมา อันนี้เลยดูไม่ยิ้มหรือเปล่า เพราะเราเองก็กำลังเฝ้าดู ญานทัศนะว่าเรื่องราวอะไรจะปรากฏชั่วขณะที่เรากำลังจะร้อยเรียงออกมา สื่อสารให้ผู้เข้าร่วมได้รับรู้ อันนี้ฝึก I in Now หรือเปล่าหนอ)
และบางคำถามในเวิร์คช็อพ จิตใต้สำนึกก็เก็บกลับมาทำงานภายในและได้ใคร่ครวญ ในคืนวันที่ผ่านไป

"อะไรคือ ความสุข ที่คุณได้รับในชุมชนขวัญเมือง"

"นกว่า ครู(วญ.)ให้อะไรนก หรือนกได้อะไรจากครู"

เป็นคำถามจากผู้เข้าร่วมคุ่ะ

เวิร์คช็อพ ที่ผ่านมาเราคุยกันเรื่อง ภาวะผู้นำ
มีเสียงที่ได้ยิน คือ เด็กขอพื้นที่จากผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็ขอพื้นที่จากผู้ใหญ่กว่า (การเรียกร้องความยุติธรรม ก็เป็นการร้องขอพื้นที่หรือเปล่า?)
แล้วผู้ใหญ่กว่า ก็มีผู้ใหญ่กว่าเสมอ ถ้าครอบครัวล่ะ มีหัวหน้าครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ถ้าโรงเรียนล่ะ ก็มีนักเรียน ครู ครูใหญ่

เวลาเราอยู่ภายใต้อะไรสักอย่าง มันเป็นข้อจำกัดของเราเสมอ
ทำไม ไม่ไปทำงานบริษัทใหญ่ๆ เงินเดือนเยอะๆ พี่ชายเคยถาม แม่เคยแย็บๆ แต่ไม่พูดตรงๆ
ฉันเคยให้คำตอบกับคำถามนี้ไปกับเพื่อนว่า เราคงทำงานในบริษัท หรือเป็นลูกน้องใครไม่ได้ เรารู้สึกว่าเรากำลังอยู่ภายใต้พื้นที่ของบทบาท
หน้าที่ ศักยภาพของเราถูกจำกัดอยู่ภายใต้ความต้องการของเจ้านายหรือใครบางคน..จนใครๆ บอกว่า เป็นคนประเภทรักอิสระ....

หรือว่า...ทุกขณะที่เราต้องการอิสระ นั่นคือเสียงที่เราร้องว่าเรากำลังอึดอัด เรากำลังถูกจำกัดในพื้นที่ที่คับแคบ และเรากำลังพยายามโผล่ให้พ้นสิ่งทีเราอยู่ภายใต้สิ่งนั้น..ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่ที่เราสวมมันอยู่หรืออะไรก็ตามที่เราบอกว่า
เราทำไม่ได้เพราะมันเป็นข้อจำกัดของเรา...เราทำไม่ได้เพราะเรายังเด็ก...เราทำไม่ได้เพราะเราไม่มีอำนาจ...
เราทำไม่ได้เพราะองค์กรเรายังไม่ทำ..ยังไม่มีพื้นที่..ฯลฯ..บางคนอาจแสดงออกมาเป็นการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนอาชีพ บางคนแสดงออกถึงอำนาจที่อาจไม่เคยมี บางคนแสดงความเป็นผู้ใหญ่เพราะไม่อยากเป็นเด็กที่อยู่ภายใต้อำนาจใคร และหากเราไม่สามารถทะลุข้อจำกัด ให้อยู่เหนือ หรือผ่านสิ่งนั้นได้ เราก็เลือกที่จะหนี...คือขอไปตายดาบหน้า! หรืออยู่ อยู่อย่างอดทน เพราะฉันมันทำได้เท่านี้....

แล้วกลับมาว่าทำไม ยอมมาเรียนรู้ภายใต้ขวัญเมือง ภายใต้ครู(วญ.) ครูให้อะไร ชุมชนให้อะไร อะไรคือความสุขที่คุณได้รับ อันนี้น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน อะไรก็ตามที่คุณรู้สึกมันมีเสน่ห์ มันก็จะทำให้คุณหลงรัก และมันก็มักให้ความสุขกับคุณเสมอ
ฉันตอบไปว่าครูให้ชีวิต ฉันไม่แน่ใจว่าใครกล่าวเอาไว้ ว่าคนเราเกิดมามีชีวิต มากกว่า 1 ครั้ง ครั้งแรกที่คุณกำเนิดออกมาเป็นคน พ่อแม่เป็นคนให้กำเนิดคุณมา และจะเกิดใหม่อีกหากคุณมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ
การมาเรียนรู้กับครู ต้องบอกว่าตอนนี้หลักสูตรที่เรียนน่าจะเป็น หลักสูตร วิถีกระบวนกร..วิถีชีวิตในกระบวนทัศน์ใหม่ วิชาที่เรียนอย่างเข้มข้นคือวิชาการเขียนโลกใบใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโลกภายใน และคราวนี้เป็นภาค ภาวะผู้นำ เราไม่ได้เรียนรู้ภาวะผู้นำเพื่อให้อยู่เหนือสิ่งใด แต่เรากำลังเรียนรู้ที่จะอยู่ เข้าใจ และพร้อมจะรับใช้สิ่งที่เราต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดนั้น ณ เวลาหนึ่ง อย่างเป็นอิสระ การเห็นข้อจำกัดนั้นโชคดีแล้วที่ได้เห็น เป็นแบบฝึกหัดที่โผล่ขึ้นมาเพื่อให้เราเรียนรู้และข้ามพ้นมันไป พร้อมๆกับการเติบโตขึ้นของศักยภาพที่มีไม่จำกัด

บทบาทของครู ของผู้ใหญ่ ของเพื่อนกระบวนกร(รุ่นพี่ บางทีก็เด็กกว่าเรา) บางทีก็ทำให้เห็นว่าเป็นผู้นำเรา
เก่งกว่าเรา แต่ทำไมในขณะเดียวกันก็ทำให้เรารู้สึกว่ากำลังรับใช้เรา หล่อเลี้ยงเรา การพูดคุยที่เราถือเป็นวัฒนธรรมของชุมชน ผู้ใหญ่บอกเล่าเรื่องราวเป็นการเปิดพื้นที่ให้โอกาสเด็กได้ใช้ศักยภาพ เป็นฝ่ายหล่อเลี้ยงบ้าง นี่คือการฝึกฝนความเป็นภาวะผู้นำ
ของเด็กหรือเปล่า? ไปพ้นเรื่องวัย เรื่องอำนาจ บทบาทหน้าที่ หากคุณกำลังรับใช้ใครอยู่คุณย่อมรู้สึกในภาวะผู้นำ ความเป็นผู้นำ
ในโอกาสนั้นๆ ชุมชนจึงเป็นเหมือนครอบครัวขยายที่เราสามารถเรียนรู้ศักยภาพในคน ศักยภาพที่มีวิวัฒนาการของคนที่อยู่ร่วมกัน
ให้ได้แปลกใจ ประหลาดใจในการเติบโตของแต่ละคนเสมอ เป็นการเรียนรู้แบบไม่จบจริงๆ...เนี๊ยะเสน่ห์ ขวัญเมือง...

การเดินทะลุกำแพงอันเป็นข้อจำกัดของตัวเองที่ต้องทำคนเดียวอันเป็นทุกข์อยู่นั้น ก่อให้เกิดความรู้สึกมีความสุขเสมอ ที่รู้สึกว่าไม่เคยโดดเดี่ยวเพราะมีเพื่อนร่วมทาง...

และคงเป็นสุขเพราะ การเรียนรู้ในชุมชนขวัญเมืองตอบสนองต่อการใช้ศักยภาพของตัวเอง...แถมยังมาตอกย้ำว่าศักยภาพของคุณมีมากกว่า
ที่คุณคิดเสมอ

จบแล้วก็ยังคงยืนยันความจริงจัง แต่ไม่เครียดค่ะ
และขออนุญาติ เสพ...ความสุขในการเรียนรู้แบบนี้ไว้สักอย่างก็แล้วกัน

วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่

ผู้นำ...นำอย่างไรให้ได้ใจ
สิ่งนั้นคือ...การให้คุณค่า คนในทีม
สิ่งนั้นเกิดจากอะไร....ความเชื่อในศักยภาพของคน
สิ่งนั้นมีประโยชน์อย่างไร....แรงจูงใจ แรงบันดาลใจ คุณค่าของตน..ของทีม
จะทำอย่างไรให้เกิดสิ่งนั้น...ให้พื้นที่
เสน่ห์ของสิ่งนั้น.......ได้ใจ ให้ใจ เต็มใจ ภูมิใจ
ความเลวร้ายที่อยู่ภายใต้เสน่ห์....อัตตา

นก

บันทึกข้างบนเขียนเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2551 เขียนเมื่อครั้งหนึ่งเจอสถานการณ์ แล้วดันไปรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจกับการให้คุณค่าของคนอื่นว่าให้น้อยไปไม่ได้ดังใจ เขียนเมื่อกลับไปเรียนรู้สถานการณ์นั้น..

ไม่ต่างกับวิถีกระบวนกรนอกจาก เรียนรู้วิถีของครู ครูผู้นำพาการเรียนรู้ แล้ว
วิถีกระบวนกรยังเป็นวิถีปฏิบัติของผู้นำ และเป็นผู้นำแบบกระบวนทัศน์ใหม่
เพราะวิถีกระบวนกร เป็นการทำงานเป็นทีม เป็นการรวมตัวกันทำงานของปัจเจก
แต่เป็นปัจเจกที่เป็นนักเรียนรู้และใช้ชีวิตแบบองค์กรจัดการตัวเอง
นักเรียนรู้จึงต้องถือเอาทุกสถานการณ์ เป็นแบบฝึกหัด

เลยลองหัดตั้งคำถามแบบอริยสัจสี่ (อย่างที่ท่านพุทธทาสเขียนไว้ในการศึกษาเต็มรูปแบบ) ตั้งคำถามแบบการสอน สอนตัวเอง ไม่รู้คนอื่นเห็นเป็นอย่างไร หรือมีคำตอบอื่นให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

บันทึกแต่ยังไม่ยอมส่งเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 2 ก.ค.2551 คิดว่าจะไป post วงน้ำชา แต่รู้สึกทำไมชีวิตมันถึงต้องจริงจังขนาดนี้ อยากฝึกเขียนให้สนุกๆ ฮาๆ แต่แฝงปรัชญาบ้าง เลยไม่ได้ไป post

วันนี้กลับมาเจอสถานการณ์ พบพลัง(ไม่บริสุทธิ์) อีกครั้ง รู้สึกกำลังถูกคนอื่นดูถูก วิ่งดูตัวเอง ห้อยแขวน...เกือบไม่ทัน(แสดงว่าทัน)
เลยได้ประโยคง่ายๆ ของชีวิต

" ทุกคนได้สิทธิ์ดูถูกคุณ ยกเว้นตัวคุณ "

วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วิถีชีวิต วิถีกระบวนกร..HBD ครูใหญ่

บันทึกเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2551 ต่อจากคำขอบคุณเพื่อน
เป็นการเรียนรู้ภาคกระบวนกร...กับคำถามดีๆ ในชีวิต
ภาค MU Strategy คำแสด รีสอร์ท

อ่านให้เป็นของขวัญวันคล้ายวันเกิดครูใหญ่(วญ.) ที่ผ่านมาถือว่าเป็นการทดแทนบุญคุณทางหนึ่ง ที่สอนแล้วเอาไปใช้ในวิถีชีวิต


การนำพาผู้เข้าร่วม หาคำตอบ ..เป็นการดูแลวาระของผู้จัด
...อะไรทำให้เกิดการเรียนรู้
วัชระองค์ความรู้..เป็นที่มาของแผนที่ เป็นที่มาที่ไปของกระบวนการ
แล้วตั้งคำถามเชื่อมโยงโยนเข้าไป เพื่อหาคำตอบจากการพูดคุย....

การจัดพื้นที่ ให้โอบล้อมกอดผู้เข้าร่วมสำคัญยิ่ง
เริ่มต้นงานด้วยการนำพาสู่วัยเด็ก...มีพลังเสมอ
เรื่องเล่า...เร้าพลังถึงหัวใจของเรื่อง
อ่างปลา...กลายเป็นภาชนะใส่พลังอันศักดิ์สิทธิ์

...การไม่พยายามจัดการอะไร แต่ไม่ละเลย
พลังลบ ปั่นป่วน ให้เรารู้สึกแย่ที่สุดในกระบวนการเรียนรู้
กลับแปรเปลี่ยนกลายเป็นขอบภาชนะการเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดได้เช่นกัน
สำคัญ พลังภายในของผู้นำพาอย่า ร้อนรน
เย็นให้พอ ไม่ต้องพยายามแก้ปัญหา ไม่ต้องพยายามจัดการ
เพียงแต่วางใจจักรวาล เต้นระบำไปกับเพลงอันโลดแล่น
ภายใต้ความปั่นป่วน รวมพลังบวกให้อยู่เหนือพลังลบ
รอคอยจังหวะปรับเปลี่ยนพลังลบ ให้เป็นบวก
นี่คือศิลปะ...ในการ hold space...

-- บทเรียนนี้สอน การปรับคลื่นกับผู้จัด เป็นการปรับคลื่นเพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ --
-- หากละเลย อาจเพิ่มคลื่นลบ สร้างความปั่นป่วนกับเรา --

กระบวนกร เป็นเพียงผู้นำพา
สอน อยากให้ กลายเป็นเรื่องไร้สาระ
การดูแลวาระ ของผู้จัดเป็นสิ่งสำคัญ
สร้างพื้นที่ของตัวเอง ของผู้ร่วม
นำพากระบวนการเรียนรู้
วางใจ เชื่อในกระบวนการ
นำพา ความผ่อนคลาย ยืดหยุ่น และสมดุล
ย่อมนำมาซึ่งคำตอบจากการเรียนรู้
ที่ได้มากกว่าคำตอบที่ได้จากการโต้เถียงผ่านความคิด

การเรียนรู้ ของกระบวนกร
การฝึก การไม่ตัดสิน
หากเราแปะป้ายผู้เข้าร่วม
การนำพาเรายังคง สภาวะปกติ..อยู่หรือ?

ฝึกยืดหยุ่น นำมาซึ่งจังหวะ..
..ความวางใจ..ทีม กระบวนการ
แสง สี เสียง มีส่วนช่วย แต่ไม่มากเท่าสภาวะภายในผู้นำพา
ให้และรับ อย่างพอดีมีค่ามากในการเรียนรู้
ให้มากไป อาจทำให้ผู้รับไม่ได้เรียนรู้อะไร
รับมากไป ไม่ได้ก่อเกิดญานทัศนะในการนำพา

ทุกอย่างปรับ ขยับ ให้สมดุล
ทำมาก ย่อมรับได้ซึ่ง ความสมดุลของวง

หัวใจของกระบวนกร อันหนึ่ง คือ
การเปิดใจ ในการรับฟัง เพื่อการเรียนรู้
คำวิจารณ์ของหมู่กระบวนกร หรือผู้เข้าร่วม
หากยังกระทบจิตใจ และหวั่นไหว
การนำพา ด้วยความรู้สึกหวาดหวั่น ว่าจะดี หรือไม่
ทั้งหมด เป็นเรื่องของ อัตตา ใช่หรือไม่
เป็นจุดที่ละเอียดอ่อนของงานกระบวนกร
กระบวนกร ต้องละวางอัตตา
เพื่อนำพาผู้คน ให้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ว่าไม่รู้
หรือนำพาผู้คน เพื่อละวางอัตตา ....มั๊ง

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2551

ใคร่ครวญ..ชีวิต อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย

ปัจจุบันยังไม่มีใครเชื่อว่าการเรียนผ่านออนไลน์ จะดีเหมือน classroomแล้วจะเรียนผ่านออนไลน์ อย่างไร จึงจะได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับการเรียนแบบ face to face
ปัจจุบัน ระบบการศึกษา ครูก็ยังไม่สามารถใช้เทคนิคหรือนำพาให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ ผู้เรียนก็ได้แต่รับสิ่งที่ครูให้ แล้วเมื่อพยายามนำการเรียนการสอนผ่านออนไลน์เข้ามาใช้ จึงดูเหมือนเป็นการทำตามกระแสนิยมมากกว่า
หรือ..ครู ต้องฝึกให้ รู้จักการนำพาให้เกิดการเรียนรู้
นักเรียน ต้องพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ ที่แท้จริง
มูลนิธิจะนำพาสังคม สู่จิตวิวัฒน์ ผ่านเทคโนโลยีอย่างไร...แล้วถ่ายทอดกระบวนการนำพาการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี....(ในมหาวิทยาลัยยังทำไม่ได้ ยังแข็งๆ เหมือนระบบการศึกษาในห้องแบบนั้นและ)

ปัจจุบัน บริษัทองค์กรธุรกิจมากมาย ดำเนินการธุรกิจตามแบบโครงสร้างธุรกิจแบบเดิม ที่แข็ง ตายตัวทุกบริษัทต้องการเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเขา ลดความซับซ้อนจากการเพิ่มคน
ดูเหมือนเทคโนโลยีบริหารทรัพยากรเป็นตัวช่วย ที่บริษัทธุรกิจหวังพึ่งพา
ยังอ่านองค์กรไร้หัวไม่จบ อ่านไปได้หน่อยเดียว บทต้นๆ
แต่ตอนนี้ ลองใคร่ครวญ ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตและความคาดหวังในปัจจุบันดูเดิมที
อาจด้วยความต้องการที่จะอิสระทางความคิด และการปฏิบัติ จึงพยายามสร้างองค์กรไร้หัว(โดยที่ยังไม่รู้จักคำนี้มาก่อน) แต่คิดว่าคงทำงานอิสระ แล้วตั้งบริษัทของตนเองดีกว่า
นกจึงพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเองให้ได้ก่อน ที่ผ่านมาเคยทำงานกับคนอื่นแล้วพบว่า หากพึ่งพาคนอื่นแล้วเมื่อเขาละทิ้งไปแล้วเราต้องรับผิดชอบ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทำเป็นทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดตั้งแต่ต้นยันจบ อันนี้อาจเป็นการทำให้ใช้เวลามากไป

กลับจากเชียงรายคราวนี้ มีความคิดใหม่ขึ้นมาว่า จริงๆ การทำอาชีพหาเงินนี่เป็นเพียงพื้นที่เพื่อการอยู่รอด แต่ไม่แยกจากการพัฒนาศักยภาพข้างในเลย พื้นที่อาชีพนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการอยู่ร่วมเรียนรู้กับลูกหลานในชุมชนได้ดี ให้เขาได้เรียนรู้ทั้งอาชีพและพัฒนาด้านใน(พ่อแนะนำให้รู้จักโอ และน่าจะรู้จักมดอีกด้วย) ในตัวนกมีความรู้มากมายที่จะถ่ายทอด นำพาลูกหลานในชุมชนให้เรียนรู้เติบโตไปด้วยกันได้ ก็ทำให้รู้สึกว่าน่าจะเป็นไปได้ ในการสร้างชุมชนเล็กๆ กลุ่มไซเบอร์ ที่มีพื้นที่คล้ายๆ ห้องนั่งเล่นที่มีเด็กของชุมชนมาเรียนรู้ จากการทำงานและการใช้ชีวิต หรืออีกกลุ่มที่ไปทำงาน workshop ไปพัฒนาด้านในพร้อมๆ กับการทำงาน มูลนิธิอาจจะสร้างพื้นที่ใหม่ คือกลุ่มทำงานไซเบอร์ มีนก โอ หรือมดด้วย สร้างจิตวิวัฒน์สู่สังคมอีกทางหนึ่ง...ภาพจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?? อันนี้เริ่มต้นเป็นการคิดที่จะทำงาน เพื่อที่จะไม่ทำงาน มั้ง
ลดเวลาในการเรียนรู้ทั้งหมดของตัวเอง แต่เรียนรู้ร่วมกับลูกหลานในชุมชนเป็นความคิดที่เกิดจากความรู้สึกว่าเป็นคนในชุมชนด้วย

ลองโยนๆ ความคิดความรู้สึกที่เข้ามาช่วงนี้ นก