วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประสบการณ์ ศรัทธาและการกระทำ

อ่านเรื่องคู่มือสร้างชุมชนของคนไร้รากของเพื่อน(ศรชัย)ที่เขียนถึงประสบการณ์ที่เขาประทับใจ และอาจใคร่ครวญประสบการณ์ความคิด และมุมมองของตนบางอย่าง
ก็ให้คิดถึงเรื่องราวของมนุษย์ ทุกคนทำอะไรตามความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีประสบการณ์สะสมมาในวัยเด็ก หรืออาจเป็นประสบการณ์ที่สะสมมาช้านาน อาจเป็นเรื่องราวที่หล่อหลอมให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่ /เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตเพื่อทำอะไรสักอย่างต่อไปเรื่อยๆ ราวกับบางทีเหมือนมีแผนที่ที่กำหนดให้เราต้องทำไว้แล้ว...

เราอาจเป็นคนที่เติบโตในวัฒนธรรมใกล้เคียงกันหรือเปล่าหนอ(คิดเอาเอง)
ลูกคนจีน ปากน้ำโพ โตมาทำบุญเฉพาะวันสำคัญ อย่างปีใหม่
สมัยเรียนหนังสือก็ถูกบังคับให้ไปงานวัดบ้าง เวียนเทียน สวดมนต์ ตามประสานักเรียนถูกโรงเรียนบังคับให้ไป
โชคดีหน่อย เป็นเพราะบ้านอยู่ข้างวัดโพธิ์ และอาจเพราะฐานะทางบ้านที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตามประสาเป็นเด็กชอบเรียน เลยได้ไปเรียนโรงเรียนพุทธศาสนา ทุกวันอาทิตย์ เพราะได้เรียนภาษาอังกฤษ แถมอีกศาสนาเพราะอยากเรียนกีต้าร์ และร้องเพลงเลยได้เข้ากลุ่มศาสนาคริสต์ ไปเฮฮาดีดกีตาร์ ร้องเพลงตามประสาเด็ก และแอบนึกไปถึงสมัยเด็กไปเรียนตีขิมฟรีที่เทศบาล เทศบาลให้ครูมาสอน เหล่านี่ต่างก็เป็นประสบการณ์ที่อยากทำงานให้ชุมชน ให้สังคมกลับมา มีศิลปะ วัฒนธรรม ในพื้นที่ให้เด็กที่ไม่มีโอกาส ไม่มีเงินมีทอง พอมีที่เรียนดนตรี เรียนศิลปะ ติดตัวได้
โชคดีอีกนิด สมัยเป็นเด็กจนถึง มัธยมปลาย ยังมีโอกาสได้เรียนวิชาพุทธศาสนา พอให้ได้ท่องจำเข้าไปในหัว
จวบจนโตมา คงเป็นโชคอีกหรือเปล่า(ดี/ร้ายไม่รู้) ให้ได้ทำงานพยาบาล ที่ต้องเรียน และทำงานเกี่ยวกับชีวิต อาจจะเข้าใจชีวิตได้เร็วโดยไม่ต้องมีประสบการณ์เอง ไม่ต้องตายเอง เลยรู้ว่าไปฝึกมีสติก่อนตายมันยากกกก! เอาการอยู่เพราะเดี๋ยวก็ต้องตายเหมือนกัน
แต่ก็ยังไม่ได้ถึงแก่นของพุทธศาสนา หรือไม่ก็มีการพัฒนามาอยู่บ้าง อยู่ในตัวนั่นแหละ แต่ยังไม่เห็นไม่ได้แยกแยะ
จนวันหนึ่ง โชคดลบันดาลให้รู้ว่า พุทธศาสนา เรียนด้วยการอ่าน การท่องจำไม่ได้ ต้องทำเท่านั้น ทำเอง เออเอง รู้แจ้งเอง อาจไม่ทันการณ์ จึงต้องนำพาตัวเอง หาครูบาอาจารย์ หาที่ที่เรียนรู้ เข้าวัดทั้งที ได้ไปไกลถึงอีสาน จ.ขอนแก่น
ก้มลงกราบพระครั้งแรก ยังเก้ๆ กังๆ
บอกพี่ บอกน้อง บอกแม่ ก็ไม่ได้ ว่าเข้าวัด เขาอาจเข้าใจผิดคิดว่า น้องสาว พี่สาว ลูกสาว อกหัก ช้ำรัก กระมังถึงต้องเข้าวัด
หลายคนถามไปวัดทำไม ปฏิบัติแบบไหน??
หลวงพ่อกล้วยว่า มาวัด ให้เหมือนกลับมาบ้าน อยู่กันเหมือนพี่น้อง ทำใจให้สบาย พักผ่อน ทำงาน สร้างสติจากการทำงาน
และทำอย่างนี้เรื่อยมา เป็นปีๆ ปฏิบัติหรือเปล่าหว่าแบบนี้ ไม่ได้เข้า 3 วัน 5 วัน 7 วัน ไม่ได้นุ่งขาวห่มขาว
ปีใหม่ปีก่อน 52 พาเพื่อน ที่โตมาด้วยกันคนหนึ่ง ลูกสาวคนจีนทำมาหากิน เครียดจากการทำงาน
บอกเขาว่า ปีใหม่ไปเที่ยวไปพักผ่อน ด้วยการไปวัด
พาเขาเข้าครัว ช่วยยายชี บิข้าวเหนียว ที่คนเอามาทำบุญ หลายกระติ๊บ เต็มพื้นที่ ตากแดด ตากลม เตรียมทำขนม
หั่นมะเขือเทศ เตรียมทำแกงเขียวหวาน กาละมังใหญ่โต สำหรับคนเป็นสิบๆ หรือเป็นร้อยกระมัง
ทำจนเสร็จ..
เพื่อน บอกว่า แกทำไปได้อย่างไร ถ้าฉันไม่เห็นแกทำ ฉันไม่ทำแน่ๆ
ฉันอยู่บ้าน ฉันต้องสั่งให้ลูกจ้างทำแน่ๆ
เออ ...นี่แหละ ทำเอง ต้องทำเอง ทำไป ดูใจไป เมือไหร่จะเสร็จ กี่ลูก กี่เรื่องที่เข้ามา หั่นจนนิ้วที่กดมันช้ำ รู้สึกหรือเปล่า
แยกออกไหม สติ ความคิด และจิตที่มันเบื่อ เมื่อไหร่จะเสร็จ เห็นไหม
ทำให้ใครกินก็ไม่รู้ อาจจะไม่ได้กินเองด้วยซ้ำ เขาสอนให้รู้จักให้โดยไม่ต้องสอน

มาปีใหม่ปีนี้ พาเพื่อนผู้หญิงโตมาด้วยกัน 2 คน ไปพักผ่อนด้วยการเข้าวัดอีกแล้ว คราวนี้ขึ้นไปทางเหนือ
(เฮอๆ ช่วยไม่ได้ดันมาเป็นเพื่อนตู ผู้ถือคติ เข้าวัดเป็นการพักผ่อน)
เช้าปีใหม่ปีนี้ ทำบุญด้วยการทอดปลาทับทิมตัวใหญ่
เกิดมาในชีวิต ได้ทำปลาก็ครั้งนี้แหละ มันยากไม่ใช่เล่น ถอดเกล็ดปลา หั่นปลาเป็นชิ้นๆ ครัวก็ไม่ใช่ครัวเรา มีดก็ไม่คม กระทะ เตา ก็ไม่คุ้นเคยเครื่องใช้ไม่รู้อยู่ตรงไหนบ้าง
ทำปลา 3 ตัวใหญ่ ตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า นึกว่าเพื่อนจะมาช่วย
เพื่อนตื่นตามลงมาเกือบ 7 โมง เห็นปลาเป็นชิ้นๆ ที่หั่นจนเละเพราะมีดไม่คม
แถมพูดให้ใจเสีย แกจะทอดหมดเลยหรอ
นึกในใจจะเหลือไว้ทำไม แต่ปากตอบออกไป อืมม์ พร้อมๆ กับใจที่แป้วอยู่เหมือนกันเมื่อไรจะเสร็จวะเนี่ยะเรา เพื่อนรักถามเฉยๆ ไม่ได้ช่วยอะไรเลย หรือเอาใจช่วยก็ไม่รู้
แต่ก็เสร็จจนได้ ได้ปลาทอดร้อนๆ ทำบุญพระ...และกราบลาท่าน ก่อนเดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ต่อ
ปลาทอดครั้งแรกในชีวิต ก็ไม่ได้ชิมอยู่ดี แต่รู้อยู่ในใจว่า อร่อยแน่ๆ เพราะทอดด้วยใจ

.....
มีอยู่ในสังคมไทย อยู่แล้ว บ้านเราสังคมเรา ที่ที่เราอยู่ก็มีวัฒนธรรมที่ดีอยู่
หากจะสร้าง สร้างอารมณ์ แบบนี้ให้อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ให้เกิดที่ที่เราอยู่
เรามีแก่น มีแกนเป็นเป้าหมายที่แต่ละคน ต่างจิตต่างใจจะเข้าถึง (บังคับกันไม่ได้)
แต่ละคนมี ชีวิตที่ต่างคนต่างต้องดูแล

เครื่องมือที่จะสื่อให้เข้าถึงแก่น เป็นอะไรก็ได้ ละครก็ดี ไท้ฉีฉวนก็ได้ วาดรูปก็ใช่ ทำงานฝีมือยิ่งฐานกาย
และอาจรวมถึงทุกวิชาชีพ ที่ใช้หาเงินเลี้ยงกาย
กายอยู่รอด อยู่เย็นเป็นสุข ใจก็ย่อมอยู่รอด อยู่เย็นเป็นสุข ให้มันได้เกื้อหนุนกันตามบริบท
จนถึงวัยนี้ เราอาจต้องให้เครื่องมือ ให้อยู่ได้ทั้งกายและใจ
และสร้างให้เกิดการทำงานคือการปฏิบัติที่เข้าถึงธรรม(ชาติ)...จริงๆ กระมัง

นก-มยุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น